วันที่นำเข้าข้อมูล 5 เม.ย. 2555
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
1. นาย Manmohan Singh นรม. อินเดียได้กล่าวในงานครบรอบ 50 ปีของสถาบันวิจัย
การเกษตรอินเดีย เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปี ฉบับที่ 11 (ระหว่างปี ค.ศ. 2007 - 2012 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2012) ภาคการเกษตรของอินเดียขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.5 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากอัตราร้อยละ 2.5 ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 (ระหว่างปี ค.ศ. 2002 - 2007) และได้ตั้งเป้าให้ขยายตัวในอัตราร้อยละ 4 ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (ระหว่างปี ค.ศ. 2012 2017) โดยรัฐบาลจะเพิ่มงบประมาณ ในด้านการวิจัยและพัฒนาอีกหนึ่งเท่าตัวจากปัจจุบันที่เป็นเพียงร้อยละ 1 ของงบประมาณ ทั้งนี้ อินเดียได้ตั้งเป้าการขยายตัวของภาคการเกษตรในอัตราร้อยละ 4 มาตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 แล้ว แต่ไม่เคยบรรลุเป้าหมายและล่าสุดประธานาธิบดีอินเดียได้เรียกร้องให้มีการปฎิวัติเขียวครั้งที่ 2 (Second Green Revolution) ซึ่งครั้งแรกได้ดำเนินการในช่วงทศวรรษที่ 1970s
2. ได้มีการวิจารณ์ว่า การขยายตัวในระดับต่ำของภาคการเกษตรของอินเดียไม่น่าจะมี
สาเหตุจากการขาดแคลนการวิจัยและการพัฒนา เพราะอินเดียมีมหาวิทยาลัยด้านการเกษตรและศูนย์วิจัยการเกษตรอย่างเพียงพอ ซึ่ง รมว. เกษตรอินเดียก็ได้ยืนยันว่า ผลผลิตการเกษตรของอินเดียที่เพาะปลูกได้ ในหลายๆ รัฐ เช่น ข้าวจ้าว ข้าวสาลี ฯ มีผลผลิตต่อไร่ (crop yield) สูงเทียบเท่ากับกับประเทศที่ประสบความสำเร็จในด้านการเกษตร ซึ่งปัญหาน่าจะอยู่ที่การขาดแคลนน้ำและการชลประทาน โดยชี้ว่าการเพาะปลูกในรัฐที่พึ่งพาน้ำฝนธรรมชาติจะได้ผลผลิตต่ำ ส่วนเขตที่มีการชลประทานที่ดีหรือเป็นเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจะให้ผลผลิตสูง
3. อินเดียเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน โดยภาค
การเกษตรคิดเป็นร้อยละ 16 ของ GDP และคิดเป็นร้อยละ 10 ของการส่งออก และที่ผ่านมาขนาดของภาคการเกษตรต่อ GDP ได้ลดระดับลงเรื่อยๆ ทั้งนี้ แม้สัดส่วนของภาคการเกษตรจะลดลงแต่ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ การเติบโตในภาคนี้นับเป็นตัวจักรสำคัญในการช่วยลดความยากจนและการขาดสารอาหารของประชากรลงด้วย
4. ที่ผ่านมา อินเดียประสบความสำเร็จในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในหลายชนิด อาทิ ในปี ค.ศ. 2011/2012 คาดว่าอินเดียจะสามารถผลิตธัญพืชได้จำนวน 250 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอต่อการ บริโภคในประเทศและส่งออก แต่การเพิ่มขึ้นของผลผลิตการเกษตรก็ใช่ว่าประชาชนส่วนใหญ่จะสามารถ เข้าถึงผลิตผลดังกล่าวได้ เนื่องจากมีความผันผวนของราคาจนบางครั้งเกินอำนาจซื้อของประชาชนบางส่วน อันเป็นสาเหตุทำให้คนจำนวนมากขาดสารอาหารและรัฐบาลต้องเข้ามาจัดหาธัญพืชราคาต่ำให้แก่ประชาชน ที่ยากจนและด้อยโอกาส นอกจากนั้น ภาคการเกษตรยังได้รับผลกระทบจากความไร้ประสิทธิภาพในด้านอุปทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านโลจิสติกส์ คลังเก็บสินค้า ห้องเย็น และการค้าปลีกแบบดั่งเดิมที่ต้องผ่านคนกลางหลายชั้น ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญของอินเดีย
5. อินเดียมีพื้นที่การเพาะปลูกมากเป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากสหรัฐฯ) ประมาณ 159 ล้านเฮกตาร์ หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของเนื้อที่โดยรวมของประเทศ โดยสินค้าเกษตรที่อินเดียสามารถผลิตได้เป็นอันดับหนึ่งของโลก อาทิ ข้าวฟ้าง ผักจำพวกหัว ถั่วเขียว มะนาว ขิง พริก ปอ เมล็ดพืชใช้สกัดน้ำมัน มะม่วง กล้วย ฯ และที่ผลิตได้เป็นอันดับ 2 อาทิ ข้าวจ้าว ข้าวสาลี อ้อย ชา พริกไทย ไหม ถั่วลิสง ฯ รวมทั้งเป็น 1 ใน 5 ของประเทศที่สามารถผลิตกาแฟและฝ้ายได้สูงที่สุดในโลก
6. มีการวิจัยพบว่า อินเดียจะสามารถผลิตสินค้าเกษตรให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศและส่งออกได้อีกมาก หากสามารถลดปริมาณการสูญเสียของผลิตผลการเกษตรภายหลังการเก็บเกี่ยวได้ รวมทั้งมีการปรับปรุงโครงสร้างการผลิต เพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ให้ได้ทัดเทียมกับประเทศที่มีความสามารถในด้านนี้ เช่น จีนและบราซิล มีการประเมินว่า อินเดียมีการสูญเสียผลผลิตการเกษตรภายหลังการเก็บเกี่ยวสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง โดยธัญพืชสูญเสียร้อยละ 10 และผลิตผลการเกษตรที่เน่าเสียง่าย ร้อยละ 25 - 35
7. ข้อสังเกตและข้อคิดเห็น
7.1 ความด้อยประสิทธิภาพในด้านโลจิสติกส์ ความไม่เพียงพอของคลังสินค้า ห้องเย็น และการค้าปลีกแบบดั่งเดิม (unorganized retail) มีส่วนทำให้ผลผลิตการเกษตรของอินเดียสูญเสียในอัตราสูง และทำให้มีราคาเพิ่มสูงขึ้นมากก่อนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งการที่รัฐบาลอินเดียมีนโยบายที่จะเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติในสาขาค้าปลีกแบบหลายเครื่องหมายการค้าก็มีเป้าหมายที่จะช่วยลดการสูญเสียดังกล่าวด้วย
7.2 หากภาคการเกษตรของอินเดียสามารถแก้ไขปัญหาผลผลิตการเกษตรต่อไร่ต่ำ รวมทั้งสามารถลดการสูญเสียของสินค้าการเกษตรภายหลังการเก็บเกี่ยวก็น่าจะส่งผลให้ภาคการเกษตรของอินเดียมีความเข้มแข็งและขยายตัวไปในทิศทางเดียวกับภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการ อันจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปัญหาการขาดแคลนน้ำและระบบการชลประทานที่ดีก็เป็นปัญหาสำคัญของภาคการเกษตรของอินเดียเช่นกัน
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ