การบรรยายเรื่องสองทศวรรษการปฏิรูปเศรษฐกิจอินเดีย

การบรรยายเรื่องสองทศวรรษการปฏิรูปเศรษฐกิจอินเดีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 เม.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,963 view

การบรรยายเรื่องสองทศวรรษการปฏิรูปเศรษฐกิจอินเดีย

 

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2554   World Trade Centre เมืองมุมไบ ได้จัดการบรรยายเรื่อง           

Two Decades of Economic Reforms in India : Gains and Reflections  โดย Dr. Montek Singh Ahluwalia รองประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลอินเดีย ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการปฏิรูปเศรษฐกิจอินเดีย สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1.      ประเด็นที่น่าสนใจ

1.1  การปฏิรูปเศรษฐกิจอินเดียได้เริ่มอย่างจริงจังเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วแม้ว่าจะได้

ประกาศนโยบายปฏิรูปตั้งแต่ปี 2534 ทั้งนี้ การปฏิรูปดังกล่าวได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมอินเดียอย่างกว้างขวาง โดยส่งผลต่อความเจริญเติบโตของอินเดียในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยลดความยากจนของพลเมืองแต่ก็ยังมีสิ่งจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงควบคู่ไปกับการดำเนินการปฏิรูปต่อไป

1.2  ประสบการณ์ในการปฏิรูปเศรษฐกิจทำให้อินเดียตระหนักเป็นครั้งแรกว่า อินเดีย

ก็สามารถที่จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราที่สูงได้ ซึ่งก่อนหน้านั้น อินเดียไม่มีความเชื่อมั่นในเรื่องนี้ ซึ่งการขยายตัวของ GDP ในอัตราที่สูงติดต่อกันหลายปีแม้แต่ในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกได้เป็นบทพิสูจน์ในเรื่องนี้

1.3  ในปี 2554 อินเดียได้ประสบกับปัญหาเศรษฐกิจที่น่าหนักใจที่สุดช่วงหนึ่ง

นับตั้งแต่เริ่มการปฏิรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชะลอตัวลงของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวเพียงประมาณร้อยละ 7 หรือต่ำกว่านี้ จนบางฝ่ายได้เริ่มวิตกกังวลว่า ยุคแห่งการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจอินเดียได้สิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ ซึ่ง Dr. Montek เห็นว่า หากพิจาณาสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศขณะนี้แล้ว อินเดียมิได้ประสบกับปัญหาดังกล่าวเพียงประเทศเดียว แต่เป็นปรากฏการณ์โดยทั่วไป แม้แต่จีนก็ประสบกับการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจเช่นกัน เนื่องมาจากปัญหาวิกฤติการณ์หนี้สินในยุโรปซึ่งขณะนี้ยังหาข้อยุติไม่ได้รวมทั้งความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทั้งนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียในระดับร้อยละ 7 ไม่ได้ถือว่าเลวร้ายหากมองในบริบทดังกล่าว พร้อมกล่าวเตือนว่า อินเดียก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจอินเดียส่วนหนึ่งก็เกิดจากปัจจัยภายในด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความชะงักงันหรือความล่าช้าในการดำเนินการให้การปฏิรูปทางเศรษฐกิจบรรลุความคืบหน้า อาทิ การปฏิรูประบบภาษี การเพิ่มการผลิตพลังงาน และการเพิ่มโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น รวมทั้งเตือนด้วยว่า แนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ใช้ได้ผลในอดีต ( lessons learned ) ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ได้ผลในปัจจุบัน เพราะสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ในทางกลับกัน แม้จะมีวิกฤติเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หากประเทศสามารถกำหนดแนวทางเศรษฐกิจได้อย่างถูกต้องก็จะสามารถรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงได้เช่นกัน

                             1.4  Dr. Montek เชื่อว่าในระยะยาวเศรษฐกิจอินเดียจะยังคงสามารถเติบโตในระดับสูง ได้อีกแม้ขณะนี้จะประสบกับปัญหาในบางด้าน แต่ก็ยังมีบางปัจจัยบวก อาทิ ภาคการผลิตถ่านหินและไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งภาวะเงินเฟ้อก็ได้เริ่มลดระดับลงบ้างแล้ว โดยเฉพาะราคาอาหารและภาคการเกษตร นอกจากนั้น อินเดียมีข้อได้เปรียบกว่าหลายประเทศในแง่ที่มีตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่คล้ายกับจีนจากจำนวนประชากรกว่า 1,000 ล้านคน จึงทำให้ไม่ต้องพึ่งพาการส่งออกมากจนเกินไป และทำให้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจภายนอกประเทศน้อยกว่าประเทศอื่น รวมทั้งอินเดียมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุน้อยสูงทำให้ได้เปรียบ ซึ่งในอนาคตหลายประเทศจะมีปัญหาเรื่อง supply of labour แต่อินเดียไม่มี แต่กระนั้นอินเดียจำเป็นที่จะต้องเพิ่มระดับการศึกษาและทักษะให้แก่แรงงานให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ อีกปัจจัยที่มีผลบวกต่ออินเดียคือ ณ ขณะนี้ อินเดียยังมีการลงทุนต่ำกว่า growth potential อยู่มาก ยังสามารถดึงดูดการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อีกมาก ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตในระยะต่อไป

                             1.5  ปัญหาสำคัญของการปฏิรูปคือ การให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้เข้าถึงและรับประโยชน์จากผลพวงของการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่งของประเทศอย่างทั่วถึง (inclusiveness) ซึ่งผลการปฏิรูปที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนหมู่มาก แต่คนยากจนยังไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่ แต่กระนั้นอัตราส่วนของคนยากจนได้ลดจำนวนลงเรื่อยๆ และรัฐบาลก็ได้มีโครงการให้ความช่วยเหลือดูแลบุคคลเหล่านี้แล้ว ปัญหาที่ยังไม่น่าพอใจ คือขณะนี้อัตราส่วนของผู้ขาดสารอาหาร (malnutrition) และอัตราการตายของทารกยังอยู่ในระดับสูง

                              1.6  Dr. Montek ได้เน้นสิ่งที่รัฐบาลอินเดียจะต้องปรับปรุงต่อไปอีก 2 ประการ คือ การปฏิรูประบบภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้ของรัฐ ซึ่งขณะนี้มีปัญหาการขาดดุลงบประมาณค่อนข้างมาก และเกี่ยวโยงกับสิ่งที่ต้องปรับปรุงประการที่ 2 คือ การต้องยกเลิกการสนับสนุนชดเชย (subsidy) ซึ่งเป็นภาระต่องบประมาณจำนวนสูง เช่น การชดเชยค่าน้ำมัน ทั้งนี้ ในระยะต่อไปควรให้ราคาน้ำมันเป็นไปตามกลไกตลาด การชดเชยเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน ประชาชนจำเป็นต้องเรียนรู้ ที่จะอยู่กับราคาพลังงานที่สูงขึ้น และควรพยายามใช้พลังงานทดแทนและทางเลือกให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น จำเป็นต้องค่อยๆ ยกเลิกการสนับสนุนด้านอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดการบิดเบืยนทางเศรษฐกิจด้วย

                              1.7  Dr. Montek ได้กล่าวถึงสิ่งท้าทายการปฏิรูปเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะต่อไป 4 ประการ คือ 1. พลังงาน อินเดียพึ่งพาการนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมัน แก๊สธรรมชาติและถ่านหิน จำนวนมาก ซึ่งพลังงานเหล่านี้จะหายากขึ้นและมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้มีหลักประกันที่จะมีพลังงานใช้อย่างพอเพียงและมั่นคงในอนาคต 2. น้ำ ปัจจุบันเป็นปัญหาของทั้งโลก ซึ่งเรื่องน้ำดื่มไม่มีปัญหาแต่จะมีความขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม จำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่ออนาคต โดยดำเนินการทั้งในแง่การประหยัดน้ำ อนุรักษ์แหล่งน้ำและจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม รวมถึงการตั้งราคาน้ำเพื่อให้เกิดการประหยัด 3. การพัฒนาเมือง (urbanisation) ขณะนี้เมืองได้เติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่ระบบสาธารณูปโภคจะรองรับได้ และในอีก 20 ปีข้างหน้าประชากรในเมืองจะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล ดังนั้นการจัดหาสาธารณูปโภคให้เพียงพอจึงเป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งการพัฒนาสถาบันที่จะให้บริการในด้านนี้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย 4. โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ จำเป็นที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างให้เพียงพอ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงต่อไป โดยขณะนี้ยังมีโครงการที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้อีกมาก ทั้งๆ ที่มีผู้พร้อมที่จะเข้ามาลงทุนอยู่แล้ว หากสามารถทำให้คืบหน้าได้ก็จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ    

                        2.  ข้อสังเกต 

                            2.1 การบรรยายของ Dr. Montek ในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากวงการทูต นักธุรกิจ นักวิชาการและสื่อมวลชนในเมืองมุมไบค่อนข้างมาก เนื่องจากผู้บรรยายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยตรง และมีบทบาทในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันด้วย คำถามที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือเรื่องการอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วของเงินรูปีที่มีผลกระทบในวงกว้าง ซึ่ง Dr. Montek ยอมรับว่าเป็นปัญหาสำคัญ และธนาคารกลางอินเดียกำลังดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ค่อนข้างมีความเห็นว่าควรปล่อยให้ระดับค่าเงินรูปีเป็นไปตามพื้นฐานที่แท้จริง โดยเชื่อว่าตั้งแต่เดือน เม.ย. 2555 ค่าเงินรูปีจะมีเสถียร  เมื่อสหภาพยุโรปมีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้สินยิ่งขึ้น

                          2.2 ผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายท่านหนึ่งได้ยกตัวอย่างนโยบาย 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ของไทยว่าประสบความสำเร็จพอสมควรในการสร้างงานและลดความยากจนของคนในชนบท และเสนอให้รัฐบาลอินเดียนำมาปรับใช้กับอินเดีย ซึ่ง Dr. Montek เห็นว่านโยบายดังกล่าวสามารถสร้างงานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนการพัฒนาวิสาหกิจขนาดย่อมในประเทศไทย แต่การปรับใช้กับอินเดีย            ซึ่งเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีหมู่บ้านโดยรวมถึงกว่า 600,000 หมู่บ้านไม่น่าจะใช้ได้ผล

           

                                                                                                   สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ