วันที่นำเข้าข้อมูล 14 พ.ค. 2555
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565
อุตสาหกรรมแร่ธาตุของอินเดีย
1. อินเดียนับเป็นประเทศหนึ่งในจำนวนน้อยประเทศในโลกที่อุดมไปด้วยทรัพยากรแร่ธาตุต่างๆ ทั้งแร่โลหะและที่มิใช่โลหะ ซึ่งจำนวนมากยังไม่ได้ถูกสำรวจและขุดเจาะมาใช้ มีการประเมินกันว่าอินเดียมีแร่ธาตุโลหะชนิดต่างๆ สำรองอยู่ถึง 82,000 ล้านตัน อาทิ แร่เหล็ก บอกไซด์ โครเมียม แมงกานิส และไทเทเนียม เป็นต้น จากความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมนี้นับเป็นสาขาหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอินเดีย
2. การผลิตแร่ธาตุของอินเดียได้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านปริมาณและมูลค่า โดยปัจจุบันอินเดียสามารถผลิตแร่ธาตุได้ถึง 87 ชนิด ซึ่งแยกได้เป็นจำพวกเชื้อเพลิง 4 ชนิด แร่โลหะ 10 ชนิด แร่ที่ไม่ใช่โลหะ 47 ชนิด แร่อะตอม 3 ชนิด และแร่ธาตุย่อยๆ อีก 23 ชนิด อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ของอินเดียยังต่ำกว่าศักยภาพที่มีอยู่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศชั้นของโลกในด้านนี้ โดยสัดส่วนของสาขานี้คิดเป็นเพียงร้อยละ 2 ของ GDP เท่านั้น ในขณะที่ออสเตรเลียและแอฟริกาใต้คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 8 และร้อยละ 9 ของ GDP ตามลำดับ
3. การพัฒนาอุตสาหกรรมแร่ธาตุของอินเดียยังมีปัญหาและอุปสรรคอีกพอสมควร ซึ่งทำให้การเติบโตในสาขานี้ไม่บรรลุถึงศักยภาพ อาทิ
- ขาดการสำรวจแหล่งแร่ธาตุอย่างมีประสิทธิภาพ (professional exploration) ซึ่งอินเดียจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงระบบการสำรวจทางธรณีวิทยา เพื่อให้การสำรวจแหล่งแร่ธาตุสามารถทำได้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ
- เทคโนโลยีและอุปกรณ์ในการทำเหมืองแร่ยังล้าสมัย เนื่องจากขาดการเข้าร่วมลงทุน โดยบริษัททำเหมืองแร่ชั้นนำของโลก ทั้งนี้ การที่อินเดียได้เริ่มให้ความสำคัญกับการทำเหมืองแร่ใต้ดินมากยิ่งขึ้นทำให้มีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและอุปกรณ์ที่ทันสมัยซึ่งอินเดียยังขาดแคลน ขณะนี้อุปกรณ์ต่างๆ ได้นำเข้าจากเยอรมนี ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส และได้เริ่มนำเข้าจากจีนบ้างแล้ว
- ขาดการจัดหาที่ดินเพื่อการทำเหมืองแร่ที่เพียงพอ มีการประเมินกันว่า ประมาณร้อยละ 80 ของสินแร่ในอินเดียจะอยู่ตามเขตป่า ดินแดนชนกลุ่มน้อย หรือในเขตที่มีความอ่อนไหวอื่นๆ รวมทั้งรัฐบาลยังได้กำหนดให้พื้นที่จำนวนมากที่มีแหล่งแร่สำรองอยู่มากเป็นเขตห้ามการทำเหมืองแร่
- นโยบายแร่ธาตุแห่งชาติ (National Mineral Policy) ยังไม่ได้รับการปรับปรุงเท่าที่ควรแต่ขณะนี้นโยบายดังกล่าวกำลังได้รับการทบทวน เพื่อเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในสาขานี้ได้มากยิ่งขึ้น
4. ขณะนี้รัฐบาลอินเดียได้เริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบ เพื่อส่งเสริมให้บริษัทเอกชนเข้ามาลงทุนในสาขานี้ได้มากยิ่งขึ้น ดังนี้
- อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนได้ร้อยละ 100 ในการสำรวจและทำเหมืองแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งรวมถึง เพชรและอัญมณีที่มีค่าอื่นๆ ด้วย
- แม้รัฐบาลอินเดียไม่อนุญาติให้บริษัทเอกชนอินเดียหรือนักลงทุนต่างชาติทำเหมือง ถ่านหินเพื่อการค้า ยกเว้นการทำเหมืองถ่านหินเพื่อนำผลผลิตไปใช้ในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า โรงงานซีเมนต์ โรงงานเหล็กและเหล็กกล้าของบริษัทนั้นๆ เท่านั้น (ห้ามจำหน่ายให้ตลาดเปิด) แต่รัฐบาลได้เพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการประมูลสัมปทานเหมืองถ่านหินของเอกชนเพื่อใช้ในโรงงานของตนข้างต้น รวมทั้งได้ตั้ง Coal Regulatory Authority เพื่อกำกับการทำเหมืองถ่านหินให้เป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องด้วย
5. ขณะนี้นักลงทุนได้ให้ความสนใจในอุตสาหกรรมแร่ธาตุของอินเดียมากขึ้น โดยในปี ค.ศ. 2010/2011 อุตสาหกรรมดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 39,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตร้อยละ 18.2 และคาดว่าสาขานี้ยังจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีถ่านหินเป็นสินแร่หลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของสาขานี้ เนื่องจากอินเดียยังมีความต้องการใช้ถ่านหินเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าอีกมาก ซึ่งรัฐบาลอินเดียได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้อีกถึง 100 GW อันจำเป็นที่จะต้องใช้ถ่านหินจำนวนมหาศาล
6. ข้อสังเกตและข้อคิดเห็น
การพัฒนาอุตสาหกรรมแร่ธาตุของอินเดียจะเติบโตควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมการผลิตของอินเดียที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงนับเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปแสวงหาลู่ทางในการลงทุนในสาขานี้ อาทิ การลงทุนสำรวจและขุดเจาะแร่ธาตุประเภทที่รัฐบาลอินเดียอนุญาตให้ต่างชาติลงทุนได้ร้อยละ 100 หรือการลงทุนผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือในการทำเหมืองแร่ที่อินเดียยังขาดแคลนอยู่อีกมาก ได้มีการประเมินกันว่า ในช่วงระหว่างปี ค.ศ 2007 - 2012 บริษัท Coal India Limited ซึ่งเป็นบริษัททำเหมืองถ่านหิน
ของรัฐบาลอินเดียเพียงบริษัทเดียวก็มีแผนการที่จะใช้งบนับหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในการจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ในการทำเหมืองแร่ถ่านหินแล้ว
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ