ผลการประชุม FOFM 2012

ผลการประชุม FOFM 2012

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 เม.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 2,359 view

ผลการประชุม FOFM 2012

              

                เมื่อวันที่ 21 - 22 มี.ค. 2555 กงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ พร้อมด้วย น.ส. กนกภรณ์ คุณวัฒน์ กงสุลฝ่ายเศรษฐกิจและการเมือง ได้เข้าร่วมการสัมมนาเรื่องอนาคตของตลาดการเงิน ค.ศ. 2012 (Future of Financial Markets 2012 – FOFM) ณ โรงแรม Taj Mahal Palace เมืองมุมไบ จัดโดยบริษัท Financial Technologies ร่วมกับ นสพ. The Wall Street Journal

 

1. รูปแบบของงาน

               1.1 วันที่ 21 มี.ค. 2555 ช่วงเย็นมีพิธีเปิดพร้อมด้วยงานเลี้ยงรับรองผู้แทนทั้งหมดที่มาร่วมการประชุมฯ โดยมีนาย Prashant Saran กรรมการตลอดชีพกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์อินเดีย (Securities and Exchange Board of India – SEBI) เป็นแขกเกียรติยศ

               1.2 วันที่ 22 มี.ค. 2555 เป็นการจัดการสัมมนาเต็มรูปแบบ มีทั้งการบรรยายโดยวิทยากรและ panel discussion ตามด้วยการถาม-ตอบ หลังการบรรยายแต่ละช่วง

               1.3 มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 300 คน โดยส่วนมากจะเป็นนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินของอินเดีย ทั้งนี้ มีวิทยากรและ panelists จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาจากนานาประเทศ ได้แก่ อินเดีย สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี สิงคโปร์ บาห์เรน บอตสวานา มอริเชียส ฮ่องกงและไทย และมีบุคคลสำคัญเข้าร่วมการสัมมนา อาทิ นาย J. N. Meetarbhan ออท. ผทถ. มอริเชียส/สหประชาชาติ และ Dr. K. C. Chakrabarty รองผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย (Reserve Bank of India – RBI)

 

2. ประเด็นสำคัญจากการสัมมนา

               2.1 หัวข้อหลักของการสัมมนา คือ The Ascent of Asian Finance: How India can harness the Potential การย้ายศูนย์กลางทางการเงินและเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ และยุโรปมายังทวีปเอเชียในช่วง 40 – 50 ปีที่ผ่านมา โดยนักวิชาการคาดว่าจีนจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในปี ค.ศ. 2020 และอินเดียจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแทนที่จีนในปี ค.ศ. 2050 ทั้งนี้  Asian Development Bank ได้จัดพิมพ์รายงาน Asia 2050: Realizing the Asian Century ซึ่งสรุปได้ว่า ยุคของเอเชียจะเกิดขึ้นจากการมีบทบาทในด้านการเงินและเศรษฐกิจของ 7 ประเทศในทวีปเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซียและไทย โดยเมื่อปี 2553 ทั้ง 7 ประเทศมีประชากรรวมกันถึงร้อยละ 78 ของทวีปเอเชีย และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ร้อยละ 87 ของทวีปเอเชีย และคาดว่าเมื่อถึงปี 2593 ถึงแม้ว่าจะมีประชากรรวมกันเพียงร้อยละ 73 ของทวีปเอเชีย แต่จะมี GDP ถึงร้อยละ 90 ของทวีป หรือร้อยละ 45 ของ GDP โลก ดังนั้น ประเทศเหล่านี้จะต้องเผชิญกับความท้าทายในรูปแบบใหม่และความรับผิดชอบใหม่ ๆ ต่อประเด็นสำคัญ อาทิ การมีระบบการค้าแบบเปิด ระบบการเงินที่มั่นคง การมีบทบาทในเรื่อง climate change สันติภาพและความมั่นคง

               2.2 การกำหนดนโยบายทางการเงินของอินเดีย จะต้องมีการกำหนดนโยบายโดยกลไกของตลาดเอง ไม่ใช่โดยภาครัฐ (Marketcraft, not Statecraft) ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์อินเดียโดยเฉพาะตราสารทุน (equity) มีการซื้อขายจำนวนสูงมาก ทั้งจากนักลงทุนภายในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศที่หวังว่าอินเดียจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอนาคต การลงทุนในตลาด equity ของอินเดียจึงเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติจำนวนมาก บริษัทอินเดียเองจึงไม่มีความจำเป็นมากนักที่จะไปเข้าตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ แต่ตลาดหลักทรัพย์อินเดียเองจะต้องพัฒนาระบบการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ให้มีความโปร่งใสและเข้าใจง่ายมากขึ้น

               2.3 ตลาดเงินทุนสำหรับเศรษฐกิจที่กำลังเจริญเติบโต เศรษฐกิจจะดีได้ก็ต่อเมื่อมีตลาดการเงินที่มีประสิทธิภาพโดยจะต้องมีความคิดริเริ่มใหม่ ๆ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผู้กำหนดนโยบายการเงินจะต้องสวมบทบาทในการวางกฎระเบียบและปกป้องตลาดการเงินเพื่อให้สามารถมีการพัฒนาได้อย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่าตลาดการเงินในอุดมคติจะต้องมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์การเงิน (financial products) แต่ในความเป็นจริงจะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง อาทิ อุปสงค์ อุปทาน ความเชี่ยวชาญ เพื่อเลือกให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์การเงินอย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่าอย่างอื่น นอกจากนี้ ตลาดการเงินที่ดีจะต้องมีระบบการป้องกันการฉ้อโกงที่มีประสิทธิภาพโดยอาศัยความหลากหลายของระบบการป้องกันและความร่วมมือของภาครัฐ/ภาคเอกชน ทั้งในและระหว่างประเทศ และมีความโปร่งใสซึ่งสามารถตรวจสอบได้ด้วย

               2.4 พัฒนาการและความท้าทายของตลาดตราสารหนี้ของอินเดีย ความผิดพลาดในการประเมินความเสี่ยงของธนาคารกลาง (sovereign risk) เป็นสาเหตุหนึ่งของวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป นอกจากการขาดสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น หากมีตลาดตราสารหนี้ที่มีประสิทธิภาพก็จะเป็นแหล่งระดมเงินทุนในภาวะวิกฤตของธนาคารพาณิชย์ได้ รวมทั้งจะช่วยป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจในภาพรวมได้ ในส่วนของอินเดีย คนอินเดียส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยลงทุนในตราสารหนี้มากนัก ส่วนมากมักจะออมทรัพย์ในรูปแบบของทองและอสังหาริมทรัพย์ การที่จะพัฒนาตราสารหนี้ของอินเดีย จะต้องมีกฎระเบียบที่ชัดเจน ยืดหยุ่นและเข้าใจง่ายมากขึ้นสำหรับนักลงทุนส่วนบุคคลและนักลงทุนต่างชาติ และจะต้องมีการวางแผนการออกผลิตภัณฑ์การเงินอย่างเป็นระบบพร้อมทั้ง infrastructure ที่ดีของตลาดตราสารหนี้อีกด้วย

               2.5 ความท้าทายของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียท่ามกลางภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก ทวีปเอเชียไม่ได้มีภูมิคุ้มกันจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก แต่ในขณะเดียวกันตั้งแต่ปี 2540 ก็มีการพัฒนาทางด้านสังคมเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน และเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งนี้ ความร่วมมือทางการเงินและเศรษฐกิจระดับอนุภูมิภาคในเอเชีย (อาทิ อาเซียน) มีบทบาทสำคัญในการเจริญเติบโตของทวีปในภาพรวม แต่นักลงทุนอาเซียนมักจะไม่ลงทุนในอาเซียนและ  การลงทุนจากต่างประเทศในอาเซียนมักจะกระทำผ่านสิงคโปร์ อีกทั้ง ตลาดการเงินของแต่ละประเทศใน อาเซียนยังมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ในไทยร้อยละ 50 ของผู้ลงทุนเป็นผู้ลงทุนภายในประเทศส่วนบุคคล ในมาเลเซีย ร้อยละ 30 ของผู้ลงทุนเป็นสถาบันการเงิน ส่วนสิงคโปร์มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์การเงินมาก ดังนั้น หากทั้ง 3 ประเทศร่วมมือกันก็จะทำให้มีผลิตภัณฑ์การเงินที่หลากหลายมากขึ้น ในการนี้ จึงต้องเพิ่มองค์ความรู้ให้แก่นักลงทุนและสร้าง technological infrastructure เพื่อลดค่าใช้จ่ายของการไหลเวียนของเงินทุนภายในอาเซียน อนึ่ง วิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปยังเป็นโอกาสให้ธนาคารเอเชียเข้าไปลงทุนในยุโรปได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

               2.6 กฎระเบียบและพัฒนาการของตลาดโภคภัณฑ์ ตลาดโภคภัณฑ์เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมากในอินเดีย โดยเฉพาะตั้งแต่มีการอนุญาต future trading เมื่อปี 2546 ที่ผ่านมา ตลาดโภคภัณฑ์เป็นผู้กำหนดกฎระเบียบของตนเอง เนื่องจาก Forward Markets Commission จะเข้ามาตรวจสอบก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติเท่านั้น ปัจจุบันทั้งรัฐและรัฐบาลกลางของอินเดียต่างออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมตลาดโภคภัณฑ์มากขึ้นและยังไม่ได้อนุญาตให้ธนาคารและกองทุนร่วมเข้ามาลงทุนในตลาดโภคภัณฑ์

               2.7 บทบาทของจีนและอินเดียในการกำหนดสภาวะการเงินโลก จีนและอินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรวัยทำงานจำนวนมากที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่ทั่วโลกจับตามองว่าจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอนาคต ปัจจุบัน นครเซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางของตลาดการเงินภายในประเทศของจีน ในขณะที่ฮ่องกงเป็นตลาดการเงินอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งสองตลาดจึงยังไม่แข่งขันกันเอง อย่างไรก็ดี จีนยังคงประสบปัญหาเรื่องเสรีภาพทางการเมืองซึ่งอาจทำให้การจะเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกเป็นไปได้ลำบากและจีนยังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ มลภาวะเป็นพิษ ค่าแรงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมาพร้อมกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด อีกทั้ง ธนาคารปล่อยเงินกู้ค่อนข้างยากทำให้ต้องหันไปกู้เงินนอกระบบ ดังนั้น ความคุ้มค่าของการลงทุนทำธุรกิจในจีนจึงอาจดูลดลง แต่จีนมักจะมีทางแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วและยังคงเป็นประเทศที่มีโอกาสเสมอ

               2.8 โอกาสของการเจริญเติบโตในแอฟริกาและตะวันออกกลาง แอฟริกาและตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ที่สุดและมีความจำเป็นในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานจึงมีเงินทุนจำนวนมากเข้าไปในภูมิภาค เป็นผลให้มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ในส่วนของแอฟริกาซึ่งมีภาพลักษณ์และสภาพแวดล้อมในการลงทุนที่ดีขึ้น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้ขึ้นอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติหรือโภคภัณฑ์เป็นหลัก เนื่องจากร้อยละ 60 ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดจากผลิตภัณฑ์การเงิน ระบบโทรคมนาคมและอสังหาริมทรัพย์ โดยมีมอริเชียสเป็น financial gateway ระหว่างเอเชียและแอฟริกา อีกทั้ง ปัจจุบันอินเดียและจีนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในระบบโครงสร้างพื้นฐานของแอฟริกา ส่วนตะวันออกกลางตระหนักดีว่าทรัพยากรธรรมชาติของตนมีอยู่จำกัดและในอนาคตอันใกล้บางประเทศในภูมิภาคอาจต้องนำเข้าน้ำมัน ดังนั้น จึงเริ่มมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยดึงการลงทุนกลับเข้ามาในภูมิภาคแทนที่จะไปลงทุนในยุโรปเหมือนในอดีต

               2.9 บทบาทของตลาดโภคภัณฑ์ของอินเดียในการกำหนดราคาสินค้า ตลาดโภคภัณฑ์ของอินเดียเป็นตลาดที่มีการซื้อ-ขายโลหะเงิน (silver) มากที่สุดในโลก ทองคำ ทองแดงและก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับสองของโลก น้ำมันดิบเป็นอันดับสามของโลก ดังนั้น จึงเป็นที่คาดการณ์ได้ว่าอินเดียจะมีบทบาทสูงมากขึ้นในการกำหนดราคาสินค้าเหล่านี้ในโลก อย่างไรก็ดี ทางการอินเดียจะต้องพยายามหามาตรการเพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนของปริมาณการซื้อ-ขาย พร้อมทั้ง ส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ ๆ ใน financial products ที่เหมาะกับตลาดอินเดีย อีกทั้งยังต้องส่งเสริมให้มี collateral financing alternatives การสร้างโกดังสินค้าที่เหมาะสมและเปิดให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาในตลาดโภคภัณฑ์ด้วย

               2.10 ตลาดการเงิน ปี 2555 ตลาดการเงินจะยังคงไม่มั่นคงต่อไปอีกประมาณ 10 – 15 ปี นักลงทุนจะย้ายจากตลาดการลงทุนไปยังตลาดเก็งกำไร มีแนวโน้มว่าตลาดตราสารทุนจะอิ่มตัวเนื่องจากมีอัตราเงินเฟ้อสูง และ private fund manager จากต่างประเทศอาจจะระงับการลงทุนในอินเดียเนื่องจากกำลังจะมีกฎระเบียบบังคับให้มีการลงทะเบียนที่ยุ่งยากมากขึ้น แต่บริษัทใหญ่ ๆ ของอินเดียที่มีสาขาในหลายประเทศจะมีความสำคัญมากขึ้นในอินเดีย

 

3. ข้อสังเกต

            3.1 ผู้จัดงานได้เชิญ panelists ชาวไทยถึง 2 คน คือ ดร. วิรไท สันติประภพ รอง ผจก. สายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและคุณสายธาร หันสกุล รองประธานและนักเศรษฐศาสตร์อาวุโส Deutsche Bank Research/สิงคโปร์ อภิปรายในหัวข้อความท้าทายของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียท่ามกลางภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดย ดร. วิรไทฯ ได้นำเสนอในส่วนที่เกี่ยวกับตลาดการเงินอาเซียน และระหว่างการสัมมนาได้แจกเอกสารเกี่ยวกับ Thailand’s Resilience and Robust Recovery เพื่อประชาสัมพันธ์ความเข้มแข็งและการฟื้นตัวเร็วของเศรษฐกิจไทย และหลังการสัมมนามีนักธุรกิจอินเดียสนใจสอบถามข้อมูลการลงทุนในตลาดการเงินไทยจำนวนมากจากคุณสายธารฯ 

            3.2 เนื้อหาของการสัมมนาสะท้อนให้เห็นว่าอินเดียให้ความสนใจและเกรงจีนเป็นอย่างมากในฐานะคู่แข่งของการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ในส่วนของตลาดการเงินไทย อินเดียยังไม่ได้มองไทยในเชิงลึกเท่าที่ควร แต่อยู่ในสายตาของอินเดียในบริบทของอาเซียน

            3.3 ปัจจุบัน ตลาดการเงินที่พัฒนาที่สุดของอินเดีย คือ ตลาดตราสารทุน แต่อย่างไรก็ดี คาดว่าการลงทุนในตลาดดังกล่าวอาจจะมีการชะลอตัวในช่วงนี้เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสูง ตลาดโภคภัณฑ์ เป็นตลาดที่น่าสนใจมากอีกตลาดหนึ่งของอินเดีย โดย Multi Commodity Exchange – MCX เป็นตลาดโภคภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียและใหญ่เป็นอันดับที่สามของโลก ส่วนตลาดตราสารหนี้อินเดีย ยังคงต้องรอให้มีการพัฒนา financial products และ infrastructure ที่เหมาะสมกว่านี้ก่อนที่จะพิจารณาเข้าไปลงทุน

            3.4 วิทยากรหลายคนได้เน้นเรื่อง financial inclusion ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางการเงินและทางเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง โดยจะต้องให้ประชาชนเข้าถึงการบริการทางการเงินและผลิตภัณฑ์การเงินอย่างแท้จริง แต่สังคมอินเดียเป็นสังคมที่มีปฏิทรรศน์สูง ในขณะที่ตลาด luxury เติบโตทุก ๆ ปี โดยไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกมากนัก แต่มีคนอินเดียเพียงประมาณร้อยละ 2 ที่สามารถเข้าถึงตลาดการเงิน        

 

 

 

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ