การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของอินเดีย

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของอินเดีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 มิ.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 7,874 view

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของอินเดีย

1.  การจัดหาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพนับเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลอินเดียในปัจจุบัน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวสามารถเป็นได้ทั้งตัวหน่วงหรือปัจจัยเสริมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของอินเดียในช่วงต่อไป ทั้งนี้ ในช่วง10 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้ให้ความสำคัญกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมากและประสบความสำเร็จในด้านนี้พอสมควร แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถสร้างได้เพียงพอต่อการรองรับพลวัตรทางเศรษฐกิจของประเทศและยังตามหลังอีกหลายๆ ประเทศ ในด้านนี้ ทั้งนี้ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ฉบับที่ 12 (ปี ค.ศ. 2012 – 2017) รัฐบาลอินเดียได้ตั้งเป้าการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานไว้ในสัดส่วนร้อยละ 9 ของ GDP โดยกำหนดวงเงินเพื่อการลงทุนไว้ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น  1 เท่าตัวจากแผนพัฒนาฯ ฉบับก่อนหน้านี้

2.  ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอดีต รัฐบาลอินเดียได้เป็นผู้ดำเนินการเองเกือบทั้งหมด ซึ่งได้ก่อให้เกิดปัญหาความล่าช้า เนื่องจากการขาดแคลนงบประมาณ แต่ในปัจจุบัน รัฐบาลอินเดียได้ปรับนโยบายและกลยุทธเพื่อให้มีช่องทางในการเพิ่มการจัดหาทุนและดำเนินการได้คล่องตัวยิ่งขึ้น ดังนี้

 - การใช้ระบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชนในแบบ Public Private Partnerships - PPPs

 - ตั้งบริษัท Indian Infrastructure Finance Limited เพื่อเป็นกองทุนในการดำเนินการในด้านนี้โดยเฉพาะ รวมทั้งตั้ง Viability Gap Funding – VGF ซึ่งเป็นกองทุนที่รัฐบาลใช้ในการสนับสนุนด้านการเงินแก่โครงการประเภท PPPs ที่ไม่คุ้มต่อการลงทุนในเชิงพาณิชย์ โดยรัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดลงทุนรวมของโครงการ ตลอดจนได้ตั้งหน่วยงาน Infrastructure Debt Fund – IDF เพื่อเป็นกลไกในการระดมทุนระยะยาวต้นทุนต่ำให้แก่โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนผู้รับเหมาท้องถิ่นให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้จากหลายแหล่งยิ่งขึ้น อาทิ ตราสารหนี้ บริษัทประกันภัย  sovereign/pension funds ทั้งจากในอินเดียและต่างประเทศ

- ใช้เงินทุนจากองค์การทางการเงินระหว่างประเทศ อาทิ  ADB, World Bank ในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยขณะนี้ได้ใช้ทุนจาก World Bank ดำเนินการใน 73 โครงการ วงเงินประมาณ 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

3.  ทั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญ มีดังนี้

       3.1 ถนน  อินเดียมีระบบเครือข่ายถนนใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก ความยาวกว่า 4.23 ล้านกิโลเมตร โดยเป็นถนนแบบต่างๆ และทางหลวงเชื่อมโยงทั่วประเทศ ทั้งนี้ ถนนนับเป็นรูปแบบการคมนาคมที่มีประสิทธิภาพและได้รับความนิยมสูงสุดของอินเดีย ปัจจุบันสัดส่วนของภาคการคมนาคมต่อ GDP คิดเป็นประมาณร้อยละ 5.5 โดยถนนคิดเป็นร้อยละ 3.69  และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความต้องการในด้านการคมนาคมในอินเดียได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่สัดส่วนของทางหลวงหลัก (national highways) และทางด่วน (expressways) ของอินเดียยังมีน้อยมาก คือมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 1.7 โดยส่วนใหญ่เป็นทางหลวงของรัฐ ถนนในเขตเมืองและถนนในชนบท ในการส่งเสริมการก่อสร้างถนนในปัจจุบัน รัฐบาลอินเดียได้อนุญาตให้เอกชนร่วมทุนกับรัฐบาลในแบบ PPP แล้วจำนวน 324 โครงการ วงเงิน 31,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 คาดว่าภาคเอกชนจะเข้าร่วมในสัดส่วนร้อยละ 44 นอกจากนั้น รัฐบาลได้อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนโดยตรงได้ในสัดส่วนร้อยละ 100 ด้วย รวมทั้งให้สิทธิพิเศษต่างๆ อาทิ ยกเว้นภาษี 10 ปี, ให้สัมปทานระยะยาวถึง 30 ปี และยกเว้นภาษีการนำเข้าเครื่องจักร เป็นต้น
         3.2 การผลิตกระแสไฟฟ้า   อินเดียมีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าได้เป็นอันดับที่ 5 ของโลก ประมาณ 174,911 เมกะวัตต์ เปรียบเทียบกับกำลังการผลิตของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรที่มีกำลังการผลิตที่ 977,061 และ 80,417 เมกะวัตต์ ตามลำดับ ในช่วงที่ผ่านมากำลังการผลิตไฟฟ้าของอินเดียได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว อันเป็นผลมาจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว แต่กระนั้นอินเดียก็ยังขาดแคลนไฟฟ้าอีกมาก โดยผลิตได้ไม่เพียงพออีกประมาณร้อยละ 10.1 ซึ่งเป็นปัญหาที่สร้างความกังวลต่อรัฐบาลอย่างมาก จากการขาดแคลนไฟฟ้านี้ ทำให้การใช้ไฟฟ้าของอินเดียต่อหัวมีอัตราที่ต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในบรรดา emerging economies ทั้งนี้ สัดส่วนกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวมทั้งประเทศ รัฐบาลกลางผลิตได้ร้อยละ 32 รัฐบาลรัฐผลิตร้อยละ 49.8 และเอกชนผลิตได้ร้อยละ 18.2 ซึ่งในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 รัฐบาลอินเดียได้ตั้งเป้าลงทุนในสาขานี้ไว้ที่ 314,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมุ่งให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนในสาขานี้ให้มากยิ่งขึ้นทั้งในด้านการผลิต การจ่ายกระแสไฟฟ้าและการจำหน่ายไฟฟ้า โดยรัฐบาลจะส่งเสริมให้มีการลงทุนในรูป PPP รวมทั้งให้นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนในสาขานี้ได้ในสัดส่วนร้อยละ 100 ด้วย ตามการคาดการณ์ของ U.S. Energy Information Administration ระบุว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของอินเดียจะสูงกว่าจีนและยุโรปในปี ค.ศ. 2035 โดยมีความต้องการประมาณ 4.28 ล้านล้าน killowatthours
             3.3  ท่าเรือ  นับว่ามีความสำคัญต่อการค้าต่างประเทศของอินเดียสูงสุด โดยการค้าต่างประเทศของอินเดียกว่าร้อยละ 70 ดำเนินการผ่านทางทะเล ซึ่งอินเดียมีชายฝั่งทะเลยาว 7,517 กิโลเมตร มีท่าเรือขนาดใหญ่ 13 แห่งและท่าเรือขนาดต่างๆ อีกประมาณ 200 แห่ง ซึ่งรวมกันสามารถจัดการสินค้าได้ประมาณ 1,000 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันท่าเรืออินเดียทั้งหมดได้จัดการสินค้าประมาณ 844.9 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการขยายตัวทางการค้าระหว่างประเทศของอินเดีย ขณะนี้รัฐบาลอินเดียได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือในทุกด้านให้มีความทันสมัยและเพียงพอ โดยเน้นให้มีการลงทุนแบบ PPP และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในสัดส่วนร้อยละ 100 โดยให้สิทธิพิเศษในลักษณะเดียวกันกับการลงทุนสร้างถนน ทั้งนี้ คาดว่าอัตราการเติบโตของการจัดการสินค้าที่ท่าเรือของอินเดียจะขยายตัวประมาณร้อยละ 7.7 ไปจนถึงปี ค.ศ. 2013/2014 และคาดว่าความสามารถในการจัดการสินค้าที่ท่าเรือของอินเดียจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1,500 ล้านตัน ภายในปี ค.ศ. 2015 โดยในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้ตั้งเป้าการลงทุนในด้านนี้ไว้ประมาณ 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขณะนี้ท่าเรือหลายแห่งมีความคับคั่งมากและได้มีการจัดการสินค้าจนเกินกำลังแล้ว
              3.4  รถไฟ  การรถไฟของอินเดียนับว่ามีส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงอินเดียทั้งประเทศ รวมทั้งมีบทบาทสำคัญต่อการเดินทางของบุคคลทั่วไปและการขนส่งสินค้า เครือข่ายรถไฟของอินเดียมีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก มีระยะทาง 64,000 กิโลเมตรและมีสถานีรถไฟถึง 8,000 สถานี การขนส่งสินค้าในอินเดียดำเนินการทางรถไฟประมาณร้อยละ 40 และคิดเป็นร้อยละ 70 ของรายได้ของสาขาการขนส่ง โดยในปี ค.ศ. 2011 มีการขนส่งสินค้าทางรถไฟประมาณ 944 ล้านตัน ซึ่งเป็นการขนส่งถ่านหินมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 45 นอกนั้นเป็นสินค้าหนัก อาทิ ซีเมนต์และเหล็ก และมีการขนส่งผู้โดยสารประมาณ 7,773 ล้านคน ทั้งนี้ การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางรถไฟมีแนวโน้มเติบโตค่อนข้างรวดเร็ว เนื่องจากประหยัดและสะดวก ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงความสามารถในสาขานี้อย่างมาก รวมทั้งได้นำระบบ High Speed Corridors และ Mass Rapid Transit System มาใช้ในกรุงเดลี กัลกัตตา มุมไบและเจนไน ซึ่งเป็นการยกระดับการคมนาคมระบบรางของอินเดียและสะท้อนความทันสมัยของประเทศด้วย ทั้งนี้ ใน 10 ปีข้างหน้าการลงทุนของภาคเอกชนในสาขานี้ผ่านรูปแบบ PPP คาดว่าจะมีประมาณ 304,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐและตาม Vision 2020 รัฐบาลอินเดียได้ตั้งเป้าให้เพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าด้วยระบบรางจากร้อยละ 35 เป็นร้อยละ 50 และเพิ่มการขนส่งผู้โดยสารเป็น 15,180 ล้านคนต่อปี โดยตั้งงบเพื่อการพัฒนาในสาขานี้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 เป็นจำนวน 74,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
                3.5  การบิน  เป็นสาขาที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีสายการบินเอกชนเข้ามาแข่งขันในตลาดมากยิ่งขึ้น ปัจจจุบันขนาดของตลาดการบินอินเดียใหญ่เป็นอันดับที่ 9 ของโลก โดยการขนส่งทางอากาศในประเทศเติบโต 3 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้อินเดียมีสนามบิน 136 แห่ง ซึ่ง 128 แห่งดำเนินการโดยการท่าอากาศยานอินเดีย (Airport Authority of India – AAI)  การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของอินเดียทำให้ความต้องการขนผู้โดยสารและสินค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การขนส่งสินค้าทางอากาศในประเทศคิดเป็นเพียงร้อยละ 35 ของการขนส่งสินค้าทั้งหมดเท่านั้น เพราะอินเดียมีระบบการขนส่งทางรถไฟที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึง รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตในสาขาการบินควบคู่ไปกับด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม โดยได้ออกมาตรการส่งเสริม อาทิ การยกเว้นภาษีรายได้ การให้การอุดหนุนด้านดอกเบี้ย ลดอากรขาเข้า ลดภาษีน้ำมันเครื่องบินร้อยละ 5 เป็นต้น รวมทั้งอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติและชาวอินเดียที่ไม่มีถิ่นพำนักในอินเดียสามารถลงทุนในกิจการบินได้ร้อยละ 100 อีกทั้งยังได้ส่งเสริมให้มีการก่อสร้างสนามบินขนาดใหญ่ในลักษณะ PPP ในแบบ Build-Own-Operate-Transfer (BOOT) หรือ Lease-Develop-Transfer (LDOT) และได้อนุญาตให้ต่างชาติลงทุนได้ร้อยละ 100 ในการสร้างสนามบินประเภท greenfield airports ทั้งนี้ คาดว่า ระยะต่อไปอุตสาหกรรมการบินของอินเดียจะเติบโตรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยจะมีผู้โดยสารประมาณ 540 ล้านคนในปี ค.ศ. 2025 และการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 9 ล้านตัน และในอีก 15 ปีข้างหน้าจะมีการลงทุนในการสร้างและปรับปรุงสนามบินประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
              3.6  โทรคมนาคม  นับเป็นสาขาที่ภาคเอกชนมีบทบาทนำและมีการเติบโตที่เร็วมาก โดยในปี ค.ศ. 2011 มีผู้ใช้โทรศัพท์ประมาณ 874.68 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นตลาดใหญ่ที่สุดอันดับที่ 2 ของโลก รองจากจีน ทั้งนี้ ความหนาแน่นในการใช้โทรศัพท์ในเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 20.79 ในปี ค.ศ. 2004 เป็น ร้อยละ 73.11 ในปัจจุบัน และในชนบทก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยมีความหนาแน่นประมาณร้อยละ 35.15 การเติบโตในสาขานี้เกิดจากการที่รัฐบาลเปิดให้มีการแข่งขันค่อนข้างเสรีทั้งในแบบโทรศัพท์ติดตั้งและโทรศัพท์ไร้สาย โดยมีบริษัทแข่งขันในตลาดถึง 15 บริษัท และที่ดำเนินการโดยรัฐมี 2 บริษัท คือ BSNL และ MTNL ทั้งนี้ บริษัทเอกชนครองส่วนแบ่งในตลาดถึงร้อยละ 85.52 ซึ่งการแข่งขันสูงทำให้ผู้ใช้บริการได้ประโยชน์สูงสุด อัตราค่าทำเนียมการใช้โทรศัพท์ในอินเดียจึงมีราคาถูกมาก และเพื่อให้มีการประหยัดต่อการลงทุนและสามารถคงค่าโทรศัพท์ในระดับต่ำ บริษัทที่ให้บริการโทรศัพท์ได้เริ่มมีการใช้เสาโทรศัพท์และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ร่วมกันแล้ว ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้สนับสนุนให้ต่างชาติลงทุนในสาขานี้ด้วยการขยายสัดส่วนการลงทุนจากร้อยละ 49 เป็น ร้อยละ 74 และในส่วนของการผลิตอุปกรณ์และการให้บริการด้าน IT ต่างชาติสามารถลงทุนได้ในสัดส่วนร้อยละ 100 ซึ่งเมื่อพิจารณาจากความหนาแน่นของการใช้โทรศัพท์ของอินเดียปัจจุบัน ประกอบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ทำให้สาขาโทรคมนาคมยังเติบโตได้อีกมาก

4.  ข้อสังเกตและข้อคิดเห็น

                จากภาพรวมของโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของอินเดียในปัจจุบัน ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในทุกสาขา แต่ก็ยังมีไม่เพียงพอต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรัฐบาลอินเดียได้ให้ความสำคัญต่อการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้การพัฒนาเศรษฐกิจในระยะต่อไปต้องสะดุดหรือเติบโตได้ไม่ถึงศักยภาพ รวมทั้งให้เป็นแม่เหล็กในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ดั้งนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทรับเหมาก่อสร้างของไทยที่จะเข้ามาแสวงหาการรับงานหรือเข้าร่วมการลงทุนกับภาครัฐหรือเอกชนของอินเดียในการรับงานก่อสร้างเหล่านี้ ซึ่งบริษัทอิตาเลียนไทย ซึ่งดำเนินการในด้านนี้ในอินเดียอยู่ในปัจจุบันนับเป็นตัวอย่างที่ดี ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการก่อสร้างของอินเดีย อาทิ บริษัท Tata, Reliance และ Srei Infrastructure Finance Limited ก็ได้เคยหามารือกับ กสญ. ในความเป็นไปได้ที่บริษัทของตนจะมีความร่วมมือกับบริษัทผู้รับเหมาของไทยในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งในอินเดียและต่างประเทศมาแล้ว  

                                                                                                                                                                               สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ