ส่องโอกาสไทยในรัฐมหาราษฏระและรัฐคุชราต จากระบบภาษีใหม่ GST ของอินเดีย

ส่องโอกาสไทยในรัฐมหาราษฏระและรัฐคุชราต จากระบบภาษีใหม่ GST ของอินเดีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ก.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 4,090 view

การเข้ามาลงทุนในอินเดีย อาจเปรียบเสมือนสมรภูมิรบสำหรับนักลงทุนผู้กล้าหาญ และพร้อมเผชิญกับปัญหาทุกรูปแบบ ซึ่งกลุ่มผู้กล้าหลายรายก็ต้องถอยทัพกลับมาตั้งหลักใหม่ ทำให้เอกชนไทยน้อยใหญ่ยังคงลังเลที่จะไปลงทุนในอินเดีย ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญที่เป็นตัวการให้ผู้ประกอบการถอดใจ คือ ระบบภาษีที่ซับซ้อน ยุ่งยาก แถมบางครั้งต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน เอกสารยุ่งยาก หลายขั้นตอน การประสานงานกับเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก และบ่อยครั้งต้องเจอกับปัญหาคอรัปชั่น

แน่นอนว่า นายกรัฐมนตรีโมดี ไม่นิ่งนอนใจที่จะขจัดปัญหาข้างต้น เพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ ที่เริ่มเบื่อหน่ายกับระบบภาษีอินเดีย ให้หันกลับมาขยายการลงทุนในประเทศอีกครั้ง พร้อมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และดันให้อินเดียเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก ตอบโจทย์นโยบาย Make in India, Buy in India, New India, Skill India และ Smart City ระบบภาษีใหม่ GST (Goods and Services Tax) จึงได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ 1 กรกฎาคม 2560

GST เป็นการรวบเอาภาษียิบย่อยหลายประเภท เป็นระบบที่มีอัตราภาษีเดียวกันทั้งประเทศ ภายใต้สโลแกน “One Nation, One tax” ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่านอกจาก GST จะส่งผลให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1 – 2% แล้ว ยังช่วยให้การจัดเก็บภาษีมีความโปร่งใส แม่นยำ ปราบเงินมืด อีกทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลรัฐสามารถเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะผู้ประกอบการจะสามารถขอคืนภาษีได้ต่อเมื่อลงทะเบียนเป็นผู้เสียภาษีกับทางการรัฐ โดยใช้เอกสารแสดงตน Permanent Account Number (PAN) และ Aadhaar Number เท่านั้น

ศักยภาพของรัฐมหาราษฏระ และรัฐคุชราต โดยเฉพาะเมืองมุมไบ ในฐานะศูนย์กลางการเงิน การธนาคารของประเทศ เมืองคานธีนคร และเมืองอาห์เมดาบาด ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ และเป็นที่ตั้งของสำนักงานบริษัทข้ามชาติจากทั่วโลก ธุรกิจไทยหลายรายได้เข้ามาลงทุนในสองรัฐนี้แล้ว อาทิ ITD Cementation (ก่อสร้าง) ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ (เครื่องครัวเมลามีน) Vee Rubber (ชิ้นส่วนยานยนต์) CPF (อาหารแปรรูป) และดัชมิลล์ (นมเปรี้ยว) ซึ่งระบบภาษีใหม่ GST จะเป็นกลไกสำคัญที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจของไทย และเป็นปัจจัยหลักให้เอกชนไทยเลือกมาลงทุนในสองรัฐนี้

                        อัตราภาษี GST แบ่งออกเป็น

                        - 0% หรือ ยกเว้นการเก็บภาษี อาทิ ผักสด นมสด ไข่ไก่ เแป้งสาลีและธัญพืชที่ไม่มีตราสินค้า บริการด้านสุขภาพและการศึกษา

- 5% อาทิ น้ำตาล ชา กาแฟคั่ว แก๊สหุงต้ม LPG อิฐก่อสร้าง ถ่านหิน บัตรโดยสารเครื่องบินชั้นประหยัด     

                        - 12% อาทิ น้ำผลไม้ บัตรโดยสารเครื่องบินชั้นธุรกิจ โทรศัพท์มือถือ จักรยาน

                        - 18% อาทิ ยาสีฟัน สบู่ น้ำแร่ คอมพิวเตอร์ ประกันภัย บริการทางการเงิน ห้องพักโรงแรมอัตราค่าห้องระหว่าง 2,500 – 5,000 รูปีอินเดีย 

                        - 28% อาทิ กาแฟสำเร็จรูป กระเบื้องเซรามิค ซีเมนต์ จักรยานยนต์ ห้องพักโรงแรมอัตราค่าห้องมากกว่า 7,500 รูปีอินเดียขึ้นไป

                        ประเภทภาษี GST

                        - สำหรับการซื้อขายสินค้าและบริการภายในรัฐเดียวกัน จะต้องเสียภาษีให้แก่รัฐบาลกลาง หรือ Central Goods and Services Tax (CGST) และ State Goods and Services Tax (SGST) อัตรา 50:50  เช่น สินค้าราคา 100 รูปีอินเดีย อัตรา GST เท่ากับ 18 % ดังนั้น รัฐบาลกลางจะได้รับภาษี CGST เท่ากับ           100 X 9% = 9 รูปีอินเดีย และ รัฐบาลรัฐ จะได้รับ SGST เท่ากับ  100 X 9% = 9 รูปี

                        - สำหรับการซื้อขายสินค้าและบริการต่างรัฐ จะต้องเสียภาษีระหว่างรัฐ หรือ Integrated Goods and Services Tax (IGST) ให้แก่รัฐบาลกลาง เช่น สินค้าราคา 100 รูปีอินเดีย อัตรา GST เท่ากับ 18 % ดังนั้น รัฐบาลกลางจะได้รับภาษี CGST เท่ากับ 100 X 18% = 18 รูปีอินเดีย

โอกาสของภาคเอกชนไทย

                        1. ชิ้นส่วนยานยนต์

                            อินเดีย เป็นฐานที่ตั้งของบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่จากทั่วโลก โดยเฉพาะในรัฐมหาราษฏระ ซึ่งมีเมืองมุมไบ เป็นเมืองหลวงของรัฐ และรัฐคุชราต อีกทั้งมีผู้บริโภคกำลังซื้อสูง ทำให้อินเดียเป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับรถหรูราคาแพง ไปจนถึงรถจักรยานยนต์ ซึ่งโครงภาษี GST ใหม่นี้ กำหนดให้รถยนต์ และรถจักรยานยนต์มีภาษีต่ำลง เช่น รถยนต์ขนาดเล็ก เครื่องยนต์ดีเซล จาก 33.4% เป็น 31% รถยนตร์ขนาดใหญ่ เครื่องยนต์มากกว่า 1,500 CC จาก 51.8% เป็น 43% น่าจะกระตุ้นให้มีการซื้อยานพาหนะเพิ่มขึ้นไปอีก นั่นหมายถึง ผู้ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยจะได้อานิสงส์จากความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นนี้ด้วยเช่นกัน 

                        2. สินค้าอุปโภค บริโภค

                            โดยรวมแล้ว ภาษี GST ในกลุ่มสินค้าอุปโภค บริโภค ปรับลดลง อาทิ ยาสีฟัน สบู่ เครื่องครัว สแตนเลส น้ำมันใส่ผม จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยขยายตลาดสินค้ากลุ่มนี้ ทั้งนี้ ปัจจุบันสินค้าจากไทยได้รับความนิยมสูงต่อเนื่อง และคนอินเดียต่างเห็นว่าสินค้านำเข้าจากไทยมีคุณภาพ ผลิตภัณฑ์ไทยจึงมีวางจำหน่ายแพร่หลายแล้วในร้านค้าท้องถิ่นในรัฐมหาราษฏระ และรัฐคุชราต

                        3. อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร

                            สินค้าเกษตร อาทิ ธัญพืช แป้ง ผัก ได้รับการยกเว้นภาษี เป็นโอกาสของไทยในการลงทุนสาขาแปรรูปอาหาร นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นในบริษัทแปรรูปอาหารได้ 100% ทั้งนี้ แม้ว่าอินเดียเป็นประเทศเกษตรกรรมขนาดใหญ่ และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมีความหลากหลาย อย่างไรก็ดี กระบวนการทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว (pre-harvest and post-harvest) ยังคงล้าสมัย ไม่มีห้องเย็นและบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม พืชผัก และผลไม้จึงเน่าเสียก่อนถึงมือผู้บริโภค และขาดโอกาสในการส่งออก

                        4. โลจิสติกส์และคลังสินค้า

                            โดยที่แต่ละรัฐกำหนดอัตราภาษีแตกต่างกันไป ดังนั้น การขนส่งสินค้าจากรัฐหนึ่งไปอีกรัฐหนึ่งต้องเสียภาษีข้ามแดนให้แต่ละรัฐ อีกทั้งผู้ประกอบการจะต้องเตรียมเอกสารจ่ายภาษีทุกครั้งไป ทำให้ค่าขนส่งสินค้าในอินเดียมีราคาแพง และดันให้ต้นทุนสินค้าแพงตามไปด้วย ที่ผ่านมา บริษัทเอกชนส่วนใหญ่จึงแก้ปัญหาโดยการจัดตั้งคลังสินค้าย่อย ๆ ในแต่ละรัฐ เพื่อเลี่ยงการขนส่งสินค้าข้ามรัฐไปมา และลดภาระค่าใช้จ่ายภาษีซ้ำซ้อนที่จะต้องจ่ายให้รัฐบาลกลาง และรัฐบาลรัฐ

                           ภาษี GST แบบใหม่ที่มีอัตราเดียวกันทั้งประเทศ ช่วยให้ผู้ประกอบการไม่ต้องปวดหัวกับการเสียภาษียิบย่อยนี้ และเป็นการปรับโฉมธุรกิจโลจิสติกส์ และคลังสินค้าครั้งสำคัญของอินเดีย จากการสร้างคลังสินค้าเล็ก ๆ ไปทั่วประเทศแบบเก่า เปลี่ยนเป็นคลังสินค้าขนาดใหญ่ในรัฐที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมครบครัน และจากคลังสินค้าบ้าน ๆ เป็นการเก็บสินค้าอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และเชื่อมต่อกับซอฟแวร์ที่ทันสมัย

                        ขณะนี้ บริษัทรายใหญ่ต่างเห็นโอกาสนี้แล้ว เพราะลูกค้าที่จะใช้บริการโลจิสติกส์และคลังสินค้าในอินเดียมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ E-commerce ที่กำลังบูมในอินเดีย และต่างใช้ความรวดเร็วในการส่งสินค้าไปถึงผู้ซื้อออนไลน์เป็นจุดขาย

รัฐมหาราษฏระ และรัฐคุชราต เป็นรัฐที่น่าจับตามอง เพราะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุม และติดท่าเรือขนาดใหญ่ที่สำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ Jawaharlal Nehru Port (ท่าเรือ JNPT) เมืองมุมไบ และท่าเรือ Kandla ในรัฐคุชราต และทั้งสองรัฐยังเป็นทางผ่านของโครงการพัฒนาทางรถไฟขนส่งสินค้า Delhi-Mumbai Industrial Corridor (DMIC) นอกจากนั้น การพัฒนาเมืองที่โดดเด่นของเมืองนาคปูร์  รัฐมหาราษฏระ ส่งผลให้บริษัท Container Cooperation of India, Mahindra Logistics, Transport Corporation of India และบริษัทต่างชาติอย่าง Deere & Co ได้แสดงความสนใจสร้างคลังสินค้าในเมืองนาคปูร์ด้วยแล้ว

เห็นได้ชัดว่า ภายใต้การดำเนินงานของนายกรัฐมนตรีโมดี พยายามอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนในอินเดียอย่างเต็มที่ กอปรกับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อินเดียมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง จนเตะตาบริษัทข้ามชาติให้เริ่มศึกษาตลาดอย่างจริงจัง ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้ามโอกาส ลดละทัศนคติแบบเดิม ๆ “มองอินเดียใหม่” และเปิดใจเรียนรู้ลู่ทางการค้าที่อาจสร้างมูลค่ามหาศาลให้แก่ธุรกิจของท่านในอินเดีย

 

*****************************

 

น.ส. มีนา กลการวิทย์

นักการทูตชำนาญการ

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ