จาก Make in India สู่ Buy in India อีกก้าวกับการหนุนอุตสาหกรรมในประเทศ

จาก Make in India สู่ Buy in India อีกก้าวกับการหนุนอุตสาหกรรมในประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 มิ.ย. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,946 view

หลายท่านคงคุ้นหูกับนโยบาย Make in India ที่มุ่งส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ หรือ FDI ของรัฐบาลอินเดียมาบ้างแล้ว อย่างไรก็ดี ความพยายามในการสนับสนุนการผลิตภายในประเทศ เพื่อให้อินเดียเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลกไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะล่าสุด นายโมดี นายกรัฐมนตรีหัวก้าวหน้าแห่งอินเดีย ได้ประกาศนโยบายใหม่ชื่อว่า “Buy in India” เพื่อเป็นเครื่องมือใหม่ที่จะช่วยเสริมแคมเปญ Make in India ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ภายใต้นโยบาย “Buy in India” ได้กำหนดเงื่อนไขให้หน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ซื้อหรือประมูลสินค้าและบริการ ที่มีมูลค่าอย่างต่ำ 2 ล้านล้านรูปีอินเดียต่อปี จากผู้ประกอบการที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local content) มากกว่าร้อยละ 50 และต้องซื้อจากผู้ประกอบการท้องถิ่นเท่านั้น สำหรับสินค้าและบริการมูลค่าตั้งแต่ 5 แสน ถึง 5 ล้านรูปีอินเดีย ขณะที่การจัดซื้อมูลค่าต่ำกว่า 5 แสนรูปีอินเดีย จะไม่เข้าข่ายเงื่อนไขข้างต้น

แน่นอนว่า ผู้ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ คือ ภาคเอกชนอินเดีย และบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในอินเดียแล้ว หรือร่วมทุนกับภาคเอกชนอินเดียในลักษณะ หุ้นส่วน หรือ กิจการร่วมค้า (Joint venture) และยังเป็นนโยนายที่ดึงดูดให้ต่างชาติจัดตั้งโรงงานผลิตสินค้าและบริการในประเทศเพิ่มขึ้น ตรงเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ ทั้งการต่อยอดนโยบาย Make in India การสร้างงานให้แก่เยาวชน ตลอดจนการผลักดันให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากภาคเอกชนต่างประเทศ

สินค้าหลัก ๆ ที่ภาครัฐต้องจัดซื้อภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวครอบคุลมตั้งแต่เครื่องใช้ในสำนักงานทั่วไป จนถึงวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ เหล็ก อลูมิเนียม เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการขยายเครือข่ายเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ และสร้างถนนทางหลวงหลายสาย ซึ่งรัฐบาลมองว่า การเจาะจงเลือกซื้อวัสดุก่อสร้างจากสินค้าที่ผลิตในอินเดีย จะเป็นหนึ่งในมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของสินค้าหลายประเภท โดยเฉพาะเหล็ก และเหล็กกล้า จากประเทศคู่แข่ง

กล่าวได้ว่า นโยบาย Buy India ถูกนำมาใช้ในจังหวะที่เหมาะสม เนื่องจากแผนงบประมาณประจำปี 2560 – 2561 หรือ Budget 2017 ของอินเดียได้จัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่า จะเป็นการปรับปรุงเส้นทางรถไฟ ซึ่งเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่คนอินเดีย การสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน ถนน และสนามบินในเมืองขนาดเล็ก สินค้า Make in India จึงมีแนวโน้มที่จะได้รับส่วนแบ่งก้อนโตจากการจัดซื้อของรัฐบาลในหลายโครงการ

ไม่เพียงแต่อินเดียที่หยิบกลยุทธ์นี้มาใช้ ก่อนหน้านี้มหาอำนาจด้านการค้าอย่าง จีน และ สหรัฐฯ ได้ประกาศนโยบาย Buy China และ Buy American เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ปกป้องตลาด ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และช่วงชิงความได้เปรียบด้านการค้าและการลงทุนมาแล้วทั้งสิ้น 

การขยับดังกล่าวของรัฐบาลอินเดียเป็นการส่งสัญญาณ และกดดันบริษัทต่างชาติทางอ้อมให้เข้ามาลงทุนในอินเดียมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ นโยบาย Make in India ให้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ มีบริษัทข้ามชาติตบเท้าไปขยายตลาดในอินเดียอย่างคับคั่ง สอดคล้องกับรายงาน World Investment Report 2017 จัดทำโดย UNCTAD ว่า อัตรา FDI ในอินเดียเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ในปี 2559 เมื่อเทียบกับปี 2558 ส่งผลให้อินเดียติดอันดับที่ 9 ประเทศที่มี FDI สูงที่สุด

นอกจากนี้ คาดว่าเมื่อรัฐบาลประกาศใช้ GST Bill (Good and Service Tax) อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะปรับโฉมการจัดเก็บภาษี จากเก็บภาษีแยกย่อยในแต่ละรัฐ เป็นการเก็บภาษีระบบเดียวทั้งประเทศ จะอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน และดันให้อินเดียเป็นประเทศเนื้อหอมในสายตานักลงทุนต่างชาติขึ้นไปอีก

เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลอินเดียอ้าแขนต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ และผลักดันให้ทุกภาคส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศอย่างเต็มที่ ภาคเอกชนไทยจึงควรเริ่มศึกษาลู่ทางในการบุกตลาดอินเดีย โดยท่านสามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของอินเดีย http://dipp.nic.in/

********************************

 

 

น.ส. มีนา กลการวิทย์

นักการทูตชำนาญการ

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ