วันที่นำเข้าข้อมูล 8 พ.ค. 2560
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
อินเดียเร่งเครื่อง หวังดึงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
แม้ที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่เดินทางไปอินเดียเพียงเพื่อแสวงบุญ และเยี่ยมชมพุทธสถานที่สำคัญ แต่ระยะหลังมานี้ เริ่มมีคนไทยสนใจเดินทางไปอินเดียมากขึ้น ซึ่งมนสเน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวไทย และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาเยือนแดนภารตะแห่งนี้ คงหนีไม่พ้นความหลากหลายทางธรรมชาติ โบราณสถานที่ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทั่วประเทศ และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์นั่นเอง
ด้วยความพยายามของรัฐบาลอินเดียในการชูจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวของประเทศ ทำให้จากการจัดอันดับดัชนีตัวชี้วัดขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการท่องเที่ยวของโลก หรือ The Travel and Tourism Competitiveness Index (TTCI) โดย World Economic Forum ประจำปี 2560 อินเดีย อยู่ในอันดับที่ 40 จาก 136 ประเทศทั่วโลก (ไทยอยู่ในอันดับที่ 34) กระโดดขึ้นสูงถึง 12 อันดับ จากอันดับที่ 52 เมื่อสองปีที่แล้ว สอดคล้องกับตัวเลขนักท่องเที่ยวของกระทรวงการท่องเที่ยวของอินเดียว่า มีนักท่องเที่ยวมาอินเดียรวม 8.89 ล้านคน จากที่มีเพียง 2.65 ล้านคนในปี 2554
ในการนี้ เพื่อเพิ่มตัวเลขนักท่องเที่ยว รัฐบาลอินเดียได้มีมาตรการ 4 ประการ ดังนี้
1. ผ่อนคลายกฎระเบียบการตรวจลงตรา เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2560 รัฐบาลได้ประกาศให้การตรวจลงตราแบบ E-Visa ประเภทท่องเที่ยว จากเดิมที่เข้าได้เพียงครั้งเดียว และอยู่ได้นาน 30 วัน เป็นเข้าประเทศได้ 2 ครั้ง (Double entry) และแต่ละครั้งอยู่ได้นาน 60 วัน และประเภทรักษาพยาบาล เข้าประเทศได้ 3 ครั้ง (Triple entry) นอกจากนี้ กรณีเร่งด่วนสำหรับการตรวจลงตราประเภทธุรกิจ และรักษาพยาบาล จะได้รับการตรวจลงตราภายใน 48 ชั่วโมง
2. กระตุ้นอุตสาหกรรมการบินในประเทศ รัฐบาลได้ประกาศนโยบายสนับสนุนให้สายการบินเปิดเส้นทางบินไปเมืองขนาดเล็กในราคาย่อมเยาว์ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้นักท่องเที่ยวได้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังเป็นการกระจายความเจริญ และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ประชากรในชนบทอีกด้วย ซึ่งล่าสุด ภายใต้โครงการดังกล่าวนี้ สายการบิน Air India ได้เปิดเส้นทางบินระหว่างเมืองชิมลา (Shimla) และกรุงนิวเดลีโดยสนนราคาค่าบัตรโดยสารไป – กลับต่ำสุดเพียง 5,000 รูปี (ประมาณ 2,500 บาท)
นโยบายนี้ทำให้หลายรัฐเริ่มตื่นตัวกับการเชื่อมโยงเส้นทางบินไปสู่เมืองเล็ก ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ รัฐมหาราษฏระได้เปิดเส้นทางบินไปยังเมือง Shirdi ซึ่งมีชื่อเสียงจากนักจิตรวิญญาณชื่อดังระดับโลกนามว่า Sai Baba of Shirdi อีกทั้งได้จับมือกับสายการบิน Etihad และ Jet Airways เพื่อประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวในรัฐมหาราษฏระ ภายใต้แคมเปญ “Destination Maharashtra”
3. ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในฐานะที่เป็นดินแดนแห่งโยคะ และการรักษาโรคแผนโบราณอายุรเวท กระทรวงการท่องเที่ยวของอินเดียจึงเร่งประชาสัมพันธ์อาศรมโยคะ และศูนย์สุขภาพที่มีอยู่ทั่วประเทศ อีกทั้งได้ออกมาตรการตรวจสอบบุคลากรและการบริการของศูนย์เหล่านี้เพื่อให้นักท่องเที่ยวมั่นใจว่าจะได้รับการบริการที่มีคุณภาพ และมีมาตรฐานสากล
สำหรับการแพทย์แผนปัจจุบัน อินเดียก็เริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญและสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างดี เครื่องมือทันสมัย สถานพยาบาลมีคุณภาพ และ ที่สำคัญค่ารักษามีราคาถูก ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเดินทางมาเข้ารับการรักษาในอินเดียเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากสถิติพบว่า ผู้ขอรับการตรวจลงตราเพื่อรับการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นจากเพียง 75,688 รายในปี 2557 เป็น 201,333 รายในปี 2559
4. พัฒนาท่าเทียบเรือสำราญ รัฐบาลพยายามดึงดูดให้เรือสำราญแวะจอดที่ท่าเรือตามแนวชายฝั่ง โดยการพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญเพิ่มเติมในเมืองและรัฐที่มีศักยภาพ เช่น เมืองเจนไน และรัฐกัว เพิ่มเติมจากท่าเรือที่มีอยู่แล้ว เช่น เมืองมุมไบ และเมืองโคชิน พร้อมทั้งเสนอสิทธิประโยชน์เป็นการคืนเงินให้แก่เรือสำราญที่เลือกจอดในอินเดีย
จาก 4 มาตรการข้างต้น เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญกับการนำรายได้เข้าประเทศจากาการท่องเที่ยวมากขึ้น และอาจทำให้อินเดียขึ้นแท่นเป็นประเทศคู่แข่งที่สำคัญของไทย ซึ่งภาคเอกชนไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจำเป็นจะต้องปรับตัว เพื่อให้ไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวต่อไป และสำหรับเอกชนไทยที่สนใจเข้ามาลงทุนในอินเดีย สาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาการท่องเที่ยว เช่น การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โรงแรม ร้านอาหาร ย่อมได้รับผลพลอยได้ตามไปด้วย
***********************************
น.ส. มีนา กลการวิทย์
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
พฤษภาคม 2560 ห