ผลกระทบจากการลดค่าเงินหยวนต่อเศรษฐกิจอินเดีย

ผลกระทบจากการลดค่าเงินหยวนต่อเศรษฐกิจอินเดีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 มี.ค. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,592 view

การปรับลดค่าเงินหยวนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อสภาวะเศรษฐกิจจีน เป็นผลให้เกิดการเทขายหุ้นในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และตลาดหุ้นเสิ่นเจิ้นจำนวนมากในระยะเวลาสั้น ทำให้หุ้นตกลงมากกว่าร้อยละ 7 จนต้องมีการใช้มาตรการระงับการซื้อขายถึงสองครั้งในวันที่ 4 ม.ค. และวันที่ 7 ม.ค. 59 ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นอินเดีย และค่าเงินรูปี โดยดัชนี BST (Bombay Stock Exchange) Sensex ปรับลดลง 554.50 จุด หรือติดลบร้อยละ 2.18 ปิดตลาดที่ 24,851.83 จุด ต่ำสุดในรอบ19 เดือน ซึ่งหุ้นของบริษัทที่ปรับตัวลงมากที่สุดได้แก่ 1) Jindal Steel (เหล็ก) 2) Vedanta (ทรัพยากรธรรมชาติ) 3) Cairn (น้ำมันและแก๊สธรรมชาติ) 4) BHEL (อุปกรณ์ด้านอุตสาหกรรม) ดัชนี NSE (National Stock Exchange) Nifty ปรับลดลง 172.7 จุด หรือติดลบร้อยละ 2.23 ปิดตลาดที่ 7568.30 จุด ขณะที่ค่าเงินรูปีอ่อนสุดในรอบสามสัปดาห์อยู่ที่ 66.93 รูปีต่อดอลล่าห์สหรัฐ 

ค่าเงินหยวนที่อ่อนตัวลงทำให้ราคาสินค้าส่งออกของจีนมีราคาถูกลงมาก ทำให้ผู้นำเข้าอินเดียเลือกที่จะนำเข้าสินค้าจากจีน ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศทั้งรายใหญ่และรายย่อยที่จะต้องลดต้นทุน ลดการผลิตและปรับราคาขายลง นอกจากนั้น อินเดียจะยิ่งขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้น โดยปีที่ผ่านมา การนำเข้าสินค้าจากจีนมาอินเดียมีมูลค่าสูงถึง 60 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าไปจีนเพียง        12 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ และโดยที่สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของทั้งจีนและอินเดีย ดังนั้น สินค้าประเภทเดียวกันของจีนจะมีราคาต่ำกว่าสินค้าของอินเดีย ทำให้อินเดียเสียเปรียบด้านการส่งออก  

สินค้าประเภทเหล็กและยางรถยนต์ของอินเดียจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากการลดค่าเงินหยวน ซึ่งที่ผ่านมาอินเดียนำเข้าสินค้าทั้งสองประเภทจากจีนจำนวนมากอยู่แล้ว และจากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ในอินเดีย (Society of Indian Automobile Manufactures - SIAM) ระบุว่าในเดือน ธ.ค. 2558 ยอดขายรถยนต์ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.84 หรือคิดเป็น 172,671 คัน ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ในอินเดียมีแนวโน้มนำเข้าเหล็กและยางรถยนต์จากจีนเพิ่มขึ้น

 ศรษฐจีนอยู่ในช่วงชะลอตัว เห็นได้จากการที่ธนาคารจีนปรับลดค่าเงินหยวนหลายครั้งติดกันตั้งเดือน ส.ค. 2558 กอรปกับธนาคารโลกปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจจีนลงเหลือร้อยละ 6.7 ในขณะที่รัสเซียติดลบร้อยละ 0.7 บราซิลติดลบร้อยละ 2.5 ทำให้การคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจทั่วโลกในปีนี้เหลือเพียงร้อยละ 2.9 จากที่ธนาคารโลกเคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือน มิ.ย. 2558 ร้อยละ 3.3 ในทางกลับกันเศรษฐกิจ ในภูมิภาคเอเชียใต้จะยังคงเติบโตได้ดี โดยเศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตสูงถึงร้อยละ 7.8

 นอกเหนือจากปัจจัยนอกประเทศที่มีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจอินเดียแล้ว ปัจจัยด้านนโยบายและการเมืองภายในประเทศก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้จริง โดยเฉพาะนโยบายหลัก ๆ ของ รบ. กลางของอินเดีย อาทิ Make in India, Smart Cities, Digital India จะต้องมีการขับเคลื่อนและมีการลงทุนจากภาครัฐ นอกจากนั้น รบ. กลางกำลังเร่งผลักดันให้มีการออกกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุนในประเทศ เช่น กฎหมายการจัดเก็บภาษีการค้าและบริการ (Good and Service Tax - GST) ซึ่งจะช่วยให้การเก็บภาษีของ รบ. กลาง  มีเอกภาพมากขึ้น ปัจจัยด้านการเมืองยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญและฉุดรั้งมิให้ รบ. กลาง สามารถผลักดันกฎหมายที่มุ่งส่งเสริมการค้าและการลงทุนได้