การพัฒนาหมู่บ้านอัจฉริยะ (Smart village clusters) ของรัฐมหาราษฏระ

การพัฒนาหมู่บ้านอัจฉริยะ (Smart village clusters) ของรัฐมหาราษฏระ

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 มี.ค. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,507 view

รบ. กลางของอินเดียมีนโยบายพัฒนาชนบทห่างไกล และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท จึงได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน “Shyama Prasad Mukherjee Rurban Mission (SPMRM)” เพื่อพัฒนาหมู่บ้านอัจฉริยะ (Smart villages) ซึ่งรัฐบาลรัฐมหาราษฏระได้จัดตั้ง “ศูนย์ SPMRM” เพื่อเป็นหน่วยงานในการผลักดันแผนงานของ SPMRM โดยจะรวมหมู่บ้านที่อยู่ในบริเวณเดียวกันและพัฒนาเป็นกลุ่มหมู่บ้านอัจฉริยะ แทนการแยกพัฒนาเป็นรายหมู่บ้าน ซึ่งอำเภอทั้งหมด 99 แห่งทั่วรัฐฯ ได้รับคัดเลือกให้อยู่ภายใต้โครงการ Smart village clusters

การพัฒนากลุ่มหมู่บ้านจะเน้นด้านการเพิ่มรายได้ของประชากร สังคม และสุขภาพ รวมถึงการส่งเสริมการเรียนรู้สารสนเทศดิจิตอล การพัฒนาสุขาภิบาล การปรับปรุงระบบน้ำ การจัดการขยะ และการปรับปรุงด้านสุขภาพ รัฐฯ เน้นให้กลุ่มหมู่บ้านจะต้องมีการพัฒนาที่ประกอบด้วย 1) ศูนย์พัฒนาทักษะ (Skill development centers) 2) การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและการจัดเก็บ (Agriculture processing and storage facilities) 3) หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ (Mobile health units) 4) การศึกษาในชนบท (Higher education facilities) และ 5) การขนส่งสาธารณะ (Public transportation) ทั้งนี้ คณะทำงาน SPMRM มีแผนจะพัฒนา 300 กลุ่มหมู่บ้านอัจฉริยะทั่วประเทศภายใน 3 ปี

การจัดตั้งศูนย์ฯ น่าจะช่วยผลักดันโครงการต่าง ๆ ในรัฐฯ ให้ดำเนินไปได้เร็วขึ้นกว่าเดิม และ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้การแก้ปัญหาความยากจนในหมู่บ้านในอินเดียมีความเป็นไปได้มากขึ้น 

ในปี 2015 รบ. กลางของอินเดีย ยังมิได้ให้ความสนใจในการพัฒนาด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐมากนัก งปม. ที่ลงไปในภาคชนบทจึงมีน้อย  ส่งผลให้อินเดียไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) โดยเฉพาะการพัฒนาสุขภาพของสตรีมีครรภ์ ในทางกลับกัน รบ. กลางยังคงเน้นการพัฒนาด้านคมนาคมและพลังงาน ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มุ่งสนับสนุนนโยบาย Make in India ซึ่งเป็นนโยบายหลักของ รบ. เป็นสำคัญ