มลพิษและภาวะหมอกปกคลุมในเมืองมุมไบ

มลพิษและภาวะหมอกปกคลุมในเมืองมุมไบ

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 มี.ค. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,082 view

          ในช่วงระหว่างวันที่  27 – 29 ม.ค. 2559 เกิดภาวะอากาศแปรปรวนในเมืองมุมไบ และสภาพอากาศที่เย็นลงในช่วงกลางคืน และภาวะมลพิษในชั้นบรรยากาศทำให้ในช่วงเช้าของวันพฤหัสบดีที่ 29 ม.ค. 2559 และวันศุกร์ ที่ 30 ม.ค. 2559 ชาวเมืองมุมไบต้องประสบกับปัญหาหมอกมลพิษปกคลุมทั่วทั้งเมืองโดยอุณหภูมิ ต่ำสุด/สุงสุดที่วัดได้ในวันที่ 28 ม.ค. 2559 โดยกรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดียที่ชานเมืองมุมไบ    เขตซานตาครุซ (Santa Cruz) อยู่ที่ 14/32 องศาเซลเซียส ในขณะที่ย่านโคลาบา (Colaba) เขตมุมไบใต้ อุณหภูมิต่ำสุด/สูงสุดที่วัดได้อยู่ที่ 18.5/29.3 องศาเซลเซียสของวันเดียวกัน

         ดัชนีวัดระดับคุณภาพของอากาศ ( Air Quality Index – AQI) โดยรวมของมุมไบ ลดลงไปอยู่ที่ระดับ 206 (ระดับไม่ปลอดภัย) ลดลงจากระดับ 196  ในวันพุธที่ 27 ม.ค. 2559  ซึ่งทำให้ระดับคุณภาพอากาศของมุมไบอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานและเข้าข่ายอันตราย นอกจากนั้น จากข้อมูลของ สอท. สรอ./ อด. ซึ่งรายงานเกี่ยวกับคุณภาพของอากาศในย่านบันดรา (Bandra) ที่วัดได้ในระดับ 267 ในช่วงเที่ยงของวันพุธที่ 27 ม.ค. 2559  และดัชนี AQI ลดลงไปที่ระดับ  202 ในช่วงเวลา 16.00 น. ของวันเดียวกัน (ค่าดัชนีมาตรฐานความปลอดภัยของอากาศ ระดับ 0- 50 ปลอดภัย ระดับ 51-100  ปานกลาง ระดับ 151-200 ไม่ปลอดภัย   ระดับ 201-300 ไม่ปลอดภัยอย่างแรง และ ระดับ 301-500 เป็นพิษ)

         นาย Gufran Beig ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศ สถาบันอุตุนิยมวิทยาเขตร้อนของอินเดีย ณ เมืองปูเน่ ประเมินว่า สถานการณ์หมอกควันปกคลุมในเมืองมุมไบเกิดจากสาเหตุหลัก ได้แก่ 1. มลพิษแวดล้อมที่สะสมในชั้นบรรยากาศ  2. ความชื้นในอากาศ 3. ทิศทางลมที่ไม่พัดพา ซึ่งสามปัจจัยนี้มีความสัมพันธ์กันทำให้หยดน้ำหรือความชื้นในอากาศจับตัวกับมลพิษ ทำให้เกิดสภาวะหมอกปกคลุมกระจายทั่วไปและทำให้เกิดสภาวะทัศนวิสัยต่ำ (poor visibility) และสถานการณ์หมอกปกคลุมระดับรุนแรงได้เกิดขึ้นในหลายเขตย่านชานเมืองมุมไบ โดยคาดว่าสถานการณ์หมอกปกคลุมจะดีขึ้นภายในวันเสาร์

         สารก่อมลพิษ/มลภาวะที่พบมากในเมืองมุมไบ ได้แก่ 1. ไนโตรเจน ออกไซด์  (Oxides of Nitrogen) 2. ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulphur Dioxide)  3. อนุภาคแขวนลอยในอากาศ (Suspended Particulate matter-SPM) 4. คาร์บอนมอนอกไซด์ Carbon Monoxide 5.สารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile organic compounds)   ซึ่งสารต่างๆ เหล่านี้ ล้วนส่งผลมากน้อยต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบต่างๆ ของร่างกายและส่งผลต่อสุขภาพของประชากร