การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในอินเดีย

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในอินเดีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 มี.ค. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 6,921 view

    การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของอินเดียกำลังเป็นที่นิยมในหมู่ชาวต่างชาติ โดยปัจจุบันมีคนไข้จากต่างประเทศเดินทางมารักษาในอินเดียประมาณ 230,000 คน มีรายได้เข้าประเทศกว่า 3 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปี และคาดว่าภายในปี พ.ศ. 2563 รายได้จะเพิ่มขึ้นเป็น 8 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ และในปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีการเติบโตสูงถึงร้อยละ 20 โดยเมืองที่ได้รับความนิยมมากที่สุดได้แก่ เมืองมุมไบ  เมืองเจนไน กรุงนิวเดลี และรัฐอานธรประเทศ

    คนไข้ส่วนใหญ่เดินทางมาจากตะวันออกกลาง เอเชียกลาง แอฟริกาและยุโรปตะวันออก เพื่อรับการรักษาตั้งแต่โรคที่มีความซับซ้อน อาทิ การปลูกถ่ายอวัยวะ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า การทำศัลยกรรมเสริมความงาม ไปจนถึงการทำฟันและการตรวจร่างกายทั่วไป เหตุผลที่เลือกมาอินเดียเนื่องจาก 1) ค่ารักษาพยาบาลไม่สูงมากนัก 2) แพทย์มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา (ปัจจุบันมีแพทย์ทั้งหมด 918,000 คนทั้งประเทศ) 3) รพ. เอกชนที่รักษาโรคเฉพาะทางมีจำนวนมาก (ภายใน 3 ปี จะมีการสร้าง รพ. เอกชน เพิ่มอีก 40 แห่ง) 4) เครื่องมือทางการแพทย์มีความทันสมัย และ 5) ยารักษาโรคราคาถูก

    รบ. อินเดียได้จัดตั้งคณะทำงาน “National Medical and Wellness Tourism Promotion Board” ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ Indian Medical Association (IMA) และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและโยคะ มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้แพร่หลายเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวต่างชาติ และอำนวยความสะดวกแก่คนไข้ โดยได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับแพทย์และสถานที่รักษาพยาบาลในอินเดียผ่านเว็บไซต์ “IndiaHealthCareTourism.com” ซึ่งรวบรวมรายชื่อสถานพยาบาลชั้นนำ 93 แห่ง และสถานบันอายุรเวท 30 แห่ง การพัฒนาเว็บไซต์ในด้านนี้ อาทิ PlanMyMedicalTrip.com และ เว็บไซต์ practo.com เพื่อส่งเสริมให้ชาวต่างชาติเดินทางมารักษาในอินเดียมากขึ้น

    อย่างไรก็ดี แม้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของอินเดียจะมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  แต่อุปสรรคที่ทำให้ชาวต่างชาติยังเลือกที่จะรักษาในประเทศอื่น เช่น ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ได้แก่ 1) มลภาวะทางอากาศในเมือง 2) ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน 3) ระบบสุขาภิบาลที่ไม่ได้มาตรฐาน 4) การไม่มีกฎหมายคุ้มครองคนไข้ และ 5) โรคระบาด เช่น วัณโรค ไข้เลือดออก ไวรัสตับอักเสบ ปัญหาเหล่านี้สืบเนื่องจากการที่ รบ. กลางไม่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชนเท่าที่ควร โดย รบ. กลางจัดสรร งปม. ด้านสุขภาพเพียงร้อยละ 1.1 ในขณะที่จีนจัดสรร งปม. ให้ร้อยละ 3.6 และบราซิลร้อยละ 5 เป็นผลให้อินเดียมีอัตราการตายของเด็กแรกเกิดสูงเท่ากับร้อยละ 3.8 และอายุเฉลี่ยของประชากรเท่ากับ 66 ปี นอกจากนี้รพ. รัฐบาลหลายแห่งไม่มี งปม. ในการซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยและขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์