การประกาศแผน งปม. ประจำปี 2559-2560 ของ รบ. กลางอินเดีย

การประกาศแผน งปม. ประจำปี 2559-2560 ของ รบ. กลางอินเดีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 มี.ค. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,948 view

    เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2559 นายอรุณ เจตลีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประกาศแผน งปม.  ประจำปี 2559-2560 ให้แก่ภาคการเกษตรเป็นเงิน 4.8 แสนล้านรูปี เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกรผ่านการดำเนินโครงการต่าง ๆ ได้แก่ 1) การพัฒนาระบบชลประทานจำนวน 2 แสนล้านรูปี 2) การเพิ่มสินเชื่อให้แก่เกษตรกรภายในปี งปม. 2561-2562 จำนวน 9 ล้านล้านรูปี 3) การจัดเก็บภาษีบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เพื่อเป็นเงินอุดหนุนสำหรบภาคการเกษตร (Krishi Kalyan Cess) 4) การประกันพืชผลทางการเกษตร จำนวน 5.5 หมื่นล้านรูปี 5) การจัดตั้ง E-platform เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงผู้ซื้อผ่านระบบดิจิทอล ซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริการในวันที่ 14 เม.ย. 2559 และ 6) การสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการเพาะพันธ์สัตว์ รวมถึงจะรื้อฟื้นโครงการสร้างงานให้แก่ประชาชนในชนบท (Mahatma Gandhi National Rural Employment Guarantee Act - MGNREGA) ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มโดยพรรคฝ่ายค้าน (พรรคคองเกรส) สมัยที่เป็น รบ. โดยโครงการนี้จะให้เงินช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ยากจนเท่ากับค่าแรง 100 วันต่อครัวเรือน

    อย่างไรก็ดี แม้ รบ. จะใช้ งปม. จำนวนมากเพื่อพัฒนาภาคการเกษตร และความเป็นอยู่ของเกษตรกร ซึ่งมีจำนวน 120 ล้านคน แต่นาย Sudhir Panwar ประธานสมาคมเกษตรกรและอาจารย์มหาวิทยาลัยลักเนาว์ เห็นว่าโครงการของ รบ. เช่น การพัฒนาระบบชลประทาน การบริหารจัดการน้ำบาดาล (6 หมื่นล้านรูปี) และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากนม (8.5 พันล้านรูปี) จะส่งผลในระยะยาว แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกษตรกรกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้อันได้แก่ ปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับเพาะปลูกเนื่องจากปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูมรสุมน้อยกว่าปกติเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน การส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรลดลงและราคาผลผลิตตกต่ำ

ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่มีรายได้ลดลงและมีหนี้สินจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลให้ปี พ.ศ. 2557 มีข่าวเกี่ยวกับการที่เกษตรกรฆ่าตัวตายสูงที่สุดในรอบ 5 ปี 

    นับตั้งแต่ได้รับการเลือกตั้งเป็น รบ. นโยบายของ นรม. โมดี จะเน้นการลงทุน โดยมีการประกาศนโยบายด้านต่าง ๆ อาทิ Smart cities, Digital India, Make in India, Skill India, Start Up India มากกว่านโยบายในภาคการเกษตร รวมถึงการช่วยเหลือชนชั้นกลางและบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรค BJP แต่หลังจากที่พรรค BJP พ่ายแพ้การเลือกตั้งให้แก่กลุ่ม Grand Alliance ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองท้องถิ่นในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่รัฐพิหารเมื่อเดือน พ.ย. 2558 ส่งผลให้ รบ. เริ่มมีนโยบายประชานิยมมากขึ้น เพื่อเพิ่มฐานเสียงในรัฐพิหาร ซึ่งมีประชากรสูงถึง 100 ล้านคน และส่วนใหญ่มีรายได้น้อย และโดยที่จะมีการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติใน 5 รัฐ ซึ่งหาก รบ. สามารถซื้อใจประชาชนรากหญ้าได้ ก็จะช่วยให้พรรค BJP ชนะการเลือกตั้งในรัฐต่าง ๆ และ นรม. โมดี ได้รับเลือกเป็น นรม. อีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า (พ.ศ. 2562)

    ขณะเดียวกัน กลุ่มชนชั้นกลางแสดงความไม่พอใจต่อแผน งปม. ของ รบ. เพราะมีการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นหลายรายการ อาทิ 1) การเก็บภาษีบริการเพิ่มขึ้น 0.5% ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2559 ภาษีบริการจะเพิ่มขึ้นเป็น 15% จากเดิม 14.5% 2) ราคาบุหรี่เพิ่มขึ้น 10-15% 3) ราคถ่านหินและลิกไนต์เพิ่มเป็นตันละ 400 รูปี จากเดิม 200 รูปี โดย รบ. จะนำ งปม. มาอุดหนุดการใช้พลังงานสะอาด และ 4) การเพิ่มภาษีสรรพาสามิตร ทำให้ราคาสินค้าหลายประเภทปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ อุปกรณ์สำหรับมือถือ อัญมณี เสื้อผ้า